วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559


โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ
ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า และพันธุ์พืช






พระราชดำริ

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านห้วยหญ้าไซ ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย ทรงมีพระราชดำริจะอพยพราษฎรที่มีฐานะยากจนไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง มาจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ในลักษณะบ้านเล็กในป่าใหญ่” ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ตาช้าง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตาช้าง ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ โดยที่ “คน” สามารถอยู่ร่วมกับ “ป่า” ได้อย่างมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมพิทักษ์รักษา “ป่า” และฟื้นฟูสภาพ “ป่า” ที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เพื่อรักษาความสมดุลระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน





ความเป็นมา หลักการและเหตุผล
องทัพภาคที่ 3 โดยจังหวัดทหารบกเชียงรายได้ประสานงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจภูมิประเทศ และข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ ในห้วงระยะเวลา ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-28 ธันวาคม 2542 ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดทหารบกเชียงราย ผู้แทนกองทัพภาคที่ 3 ผู้แทนสำนักราชวัง ผู้แทนสำนักงานพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาที่ดินเชียงราย และหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตาช้าง ผลการสำรวจเบื้องต้น สรุปได้ว่าพื้นที่ที่จะจัดตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณแหล่งต้นน้ำแม่ตาช้าง เป็นพื้นที่ทำกินเก่าของชาวเขาเผ่าอาข่า (พิกัด NB 441891) ซึ่งฝ่ายปกครองได้อพยพออกไปเมื่อ 8 ปีก่อนแล้ว พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านห้วยหญ้าไปทิศเหนือประมาณ 13 กิโลเมตรอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย หมู่ที่9 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
วันที่ 16 มกราคม 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้าน ตามพระราชดำริเมื่อปี 2542 หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตาช้าง ได้ถวายรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ป่า พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน รวมพื้นที่จำนวน 15,000 ไร่ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงรับทราบและทอดพระเนตร พื้นที่โดยรอบด้วยความพอพระทัย ทรงตรัสขึ้นว่า “นี่แหละที่ฉันฝันไว้” ซึ่งหมายถึงว่าพื้นที่ที่จะจัดตั้งหมู่บ้าน ตรงกับที่พระองค์ทรงอยากจะให้เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ผู้ช่วยสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ(คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์) ได้ขอพระราชทานชื่อ “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ” พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ใช้ชื่อโครงการดังกล่าวได้ เมื่อเวลา 16:29น. และจะได้นำราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ซึ่งไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง จำนวน 21 ครอบครัว จำนวนประชากร 92 คน จากบ้านร่มฟ้าทอง ตำบลตับเต่า อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จำนวน 17 ครอบครัว และจากบ้านห้วยสะลัก ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายจำนวน 4 ครอบครัว เข้ามาอยู่ในโครงการเป็นการสนองพระราชดำริที่จะให้ “คน” อยู่ร่วมกับ “ป่า” โดยที่ “คน” ไม่ทำลาย “ป่า” ดังพระราชดำรัสของพระองค์ ที่ทรงตรัสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา “12 สิงหา มหาราชินี” ว่า “เพราะตกลงกับเขาก่อนแล้วว่าจะไม่มีการถางป่าหรือบุกรุกป่าเข้าไปอีก ถ้าอยากอยู่กับข้าพเจ้าในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่  ก็ต้องหยุด ชาวบ้านแถวนี้ต้องเป็นผู้สนับสนุนทะนุบำรุงป่าไปในตัว”





พื้นที่เป้าหมาย / เนื้อที่ดำเนินการ 

บริเวณต้นน้ำแม่ตาช้าง เป็นพื้นที่ทำกินเก่าของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า (พิกัด NB 441891) อยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยมีเนื้อที่ดำเนินการจำนวน 15,000 ไร่ จำแนกเขตป่าตามลักษณะพื้นที่ (Zoning) ออกเป็น 3 ส่วนคือ
1.  พื้นที่ป่าธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ จำนวน 3,500 ไร่ หรือ 23.33% ของพื้นที่
2. พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จำนวน 7,000 ไร่ หรือ 46.67% ของพื้นที่
พื้นที่ไร่เลื่อนลอย จำนวน 4,500 ไร่ หรือ 30% ของพื้นที่


วัตถุประสงค์ 

1. เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่า ได้อย่างสงบสุข มีส่วนร่วมพิทักษ์รักษา ป่า และฟื้นฟู ป่า ที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
2. เพื่อให้พื้นที่ต้นน้ำลำธาร สามารถอำนวยน้ำที่มีคุณภาพดี มีปริมาณพอเพียง และมีการกระจายจ่ายแจกได้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงท้ายน้ำ
3. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกของราษฎรให้เกิดความรัก และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ และที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่







กรอบแนวคิดการพัฒนา 


แนวคิด
 (Concept) การพัฒนาโครงการตามพระราชดำรินั้น จะต้องนำพระราชดำริมาจัดทำแผนอย่างมีระบบสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมตามลักษณะสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงในพื้นที่นั้นๆ โดยมีงบประมาณเป็นตัวกำหนดปริมาณงานให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับแผนพัฒนาป่าไม้นั้นได้สนองพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยมุ่งเน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่า ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน คน ไม่ทำลายป่า และทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังได้นำพระราชดำริ “ป่าเปียก” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมาพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งเป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) โดยการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบผสมผสาน เพื่อกักเก็บน้ำชะลอความชุ่มชื้นและกักเก็บตะกอนไว้บางส่วน


อ้างอิงจาก:http://www.chiangraifocus.com/2012/attractions/details.php?id=108&district=12

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น